วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

สามัคคีเภทคำฉันท์


สามัคคีเภทคำฉันท์
( วัสสการพราหมณ์เริ่มทำอุบายทำลายสามัคคี )

ภุชงคประยาต ฉันท์ ๑๒
          ทิชงค์ชาติฉลาดยล                  คะเนกลคะนึงการ
กษัตริย์ลิจฉวีวาร                              ระวังเหือดระแวงหาย
          เหมาะแก่การณ์จะเสกสรร         ปวัตน์วัญจโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสาย                            สมัครสนธิ์สโมสร

วัสสการพราหมณ์ผู้เฉลียวฉลาด ได้คาดคะเนว่ากษัตริย์ลิจฉวีนั้นไม่มีความหวาดระแวงใดๆแล้ว จึงเห็นว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มดำเนินแผนการทำลายความสามัคคี


         ณ วันหนึ่งลุถึงกา                   ลศึกษาพิชากร
กุมารลิจฉวีวร                                เสด็จพร้อมประชุมกัน
         ตระบัดวัสสการมา                  สถานราชเรียนพลัน
ธ แกล้งเชิญกุมารฉัน                        สนิทหนึ่งพระองค์ไป

วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาศึกษาวิชาความรู้ กุมารลิจฉวีก็เสด็จมาอย่างพร้อมเพรียงกัน ทันใดนั้นวัสสการพราหมณ์ก็มาถึงและแกล้งเชื้อเชิญกุมารพระองค์หนึ่งที่สนิทด้วยไปพบ


         ลุห้องหับรโหฐาน                   ก็ถามการณ์ ณ ทันใด
มิลี้ลับอะไรใน                                กถาเช่น ธ ปุจฉา
        จะถูกผิดกระไรอยู่                   มนุษย์ผู้กระทำนา
และคู่โคก็จูงมา                              ประเทียบไถมิใช่หรือ

ที่ห้องส่วนตัว แล้วถามเรื่องที่ไม่ใช่ความลับอะไร เช่น ถามว่าชาวนาจูงวัวคู่หนึ่งมาเพื่อใช้ไถนาใช่หรือไม่


        กุมารลิจฉวีขัตติย์                    ก็รับอรรถอออือ
กสิกเขากระทำคือ                           ประดุจคำพระอาจารย์
        ก็เท่านั้น ธ เชิญให้                   นิวัตในมิช้านาน
ประสิทธิ์ศิลป์ประศาสน์สาร                สมัยเลิกลุเวลา

กุมารลิจฉวีเห็นด้วยว่าชาวนานั้นกระทำดังคำของอาจารย์ ถามเพียงเท่านั้นวัสสการพราหมณ์ก็เชิญกุมารลิจฉวีกลับออกไป เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน


        อุรสลิจฉวีสรร                        พชวนกันเสด็จมา
และต่างซักกุมารรา                          ชองค์นั้นจะเอาความ
        พระอาจารย์สิเรียกไป               ณ ข้างใน ธ ไต่ถาม
อะไรเธอเสนอตาม                           วจีสัตย์กะส่ำเลา

เหล่าโอรสลิจฉวีต่างพากันซักไซ้กุมารพระองค์นั้นว่า ที่พระอาจารย์เรียกเข้าไปข้างในนั้นได้ไต่ถามอะไรบ้าง ขอให้บอกความจริงแก่พวกเรามา


        กุมารนั้นสนองสา                    รวากย์วาทตามเลา
เฉลยพจน์กะครูเสา                          วภาพโดยคดีมา
        กุมารอื่นก็สงสัย                      มิเชื่อในพระวาจา
สหายราช ธ พรรณนา                      และต่างองค์ก็พาที
        กุมารพระองค์นั้นได้เล่าเรื่องราวที่พระอาจารย์เรียกไปถามให้ฟังตามความเป็นจริง แต่กุมารพระองค์อื่นสงสัยไม่เชื่อในคำพูดของสหาย กุมารแต่ละพระองค์ต่างพูดคุยกัน



ดอกไม้ประจำชาติ " ญี่ปุ่น "


ดอกไม้ประจำชาติ " ญี่ปุ่น "

หลายคนคิดว่าดอกซากุระ (Sakura) เป็นดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น เพราะนอกจากคนต่างชาติที่นิยมไปดูดอกซากุระที่ญี่ปุ่นแล้ว คนญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับซากุระเช่นกัน เนื่องจากดอกซากุระจะบานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูแห่งการเริ่มต้น เปิดเทอมใหม่ เริ่มเข้าทำงาน ก็เริ่มในต้นเดือนเมษายนเช่นกัน นอกจากนี้ ซากุระก็เป็นดอกไม้ที่บ้านในช่วงสั้นๆ แล้วแต่สภาพอากาศ ถ้าเจอฝนก็อาจจะร่วงภายในหนึ่งอาทิตย์ ดังนั้นคนญี่ปุ่นเองจึงให้ความสำคัญกับซากุระ มีเทศกาลชมซากุระ หรือที่เรียกว่า ฮานามิ (Hanami) มีการไปจับจองที่นั่งใต้ต้นซากุระเพื่อรับประทานอาหาร สังสรรค์เฮฮากัน


จริงๆ แล้วญี่ปุ่นไม่มีดอกไม้ประจำชาติที่กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ดอกซากุระ และดอกเบญจมาศ เป็นดอกไม้ประจำชาติหรือเป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ดอกเบญจมาศ (Kiku) เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญมาแต่ในอดีต ตั้งแต่สมัยนารา มีการนำดอกเบญจมาศมาทำเป็นยาซึ่งเป็นสูตรมาจากเมืองจีน และในสมัยต่อๆมา ดอกเบญจมาศก็ปรากฏอยู่บนภาพพิมพ์ เป็นลายบนข้าวของเครื่องใช้ในวัง เป็นลายบนตราประจำตัวขุนนาง เป็นต้น ปัจจุบันดอกเบญจมาศก็มีปรากฏบนด้านหลังของเหรียญ 50 เยน และถือว่าเป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วง ส่วนดอกซากุระก็เป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ